คำแนะนำอย่างง่ายในการดูแลผู้สูงอายุที่เป็นอัลไซเม

คำแนะนำอย่างง่ายในการดูแลผู้ป่วยอัลไซเมอร์

หากพูดถึงการดูแลผู้ป่วย หลายคนคงรู้สึก และเข้าใจได้ว่างานเหล่านี้เป็นสิ่งที่ต้องใช้แรงกาย และแรงใจในการปฏิบัติเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะการดูแลผู้ป่วยในโรค “อัลไซเมอร์” (Alzheimer’s Disease) โรคที่ผู้ดูแลจำเป็นจะต้องมีความรู้ ความเข้าใจ เกี่ยวกับโรคให้มากที่สุดไม่ว่าจะเป็นอาการของโรค การแสดงพฤติกรรมในรูปแบบต่างๆ ตลอดจนผลกระทบที่เกิดขึ้น เพื่อให้การดูแล และรับมือกับผู้ป่วยโรคนี้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งเป็นผลดีต่อผู้ป่วย

การดูแลผู้ป่วยอัลไซเมอร์ ไม่ใช่เรื่องง่าย แต่คุณสามารถทำได้หากมีความเข้าใจ

อย่างที่เราได้เกริ่นๆ ไว้ในช่วงแรกว่าการดูแลผู้ป่วยในโรคนี้เป็นเรื่องที่ต้องใช้พลังกาย พลังใจเป็นอย่างมาก เพราะอาการของโรคนั้นมาจากสมองซึ่งมีหน้าที่ในการควบคุมร่างกาย พฤติกรรม ความรู้สึก หากเกิดโรคในระยะแรกๆ การรับมืออาจจะง่ายจนคุณไม่ต้องรู้สึกกดดันอะไร แต่หากผู้ป่วยอยู่ในระยะที่ไม่สามารถดำรงชีวิตด้วยตัวเองได้แล้ว งานนี้ก็เป็นงานที่หนักอยู่ไม่ใช่น้อย

ดังนั้นในวันนี้เราก็มี คำแนะนำในการรับมืออย่างง่ายในการดูแลผู้ป่วยอัลไซเมอร์ มาให้ทุกคนได้ลองศึกษา และนำไปปรับใช้กัน แต่จะมีวิธีการอะไร ข้อมูลแบบไหนมาดูกันเลย

  1. การสื่อสารให้เกิดความเข้าใจระหว่างผู้ดูแล และผู้ป่วย

การสื่อสารกับผู้ป่วยอัลไซเมอร์อาจกลายเป็นเรื่องยากจนทำให้คุณรู้สึกหนักใจได้ในบางครั้ง เพราะผู้ป่วยในโรคนี้จะต้องใช้เวลาในการทำความเข้าใจ หรือความพยายามในการบอกสิ่งที่เขาต้องการอยู่ไม่น้อย ดังนั้นในการสื่อสารทุกครั้งคุณควรเรียกชื่อพวกเข้าก่อนเสมอเพื่อดึงดูดความสนใจ ปิดทีวี และอุปกรณ์อื่นๆ ที่จะเข้ามารบกวนบทสนทนา

ส่วนการพูดคุณก็ควรพูดให้สั้น กระชับ เข้าใจง่ายมากที่สุด ในกรณีที่ผู้ป่วยต้องการสื่อสาร คุณจำเป็นต้องให้เวลากับพวกเขาจนกว่าจะจบการสนทนา อย่าตัดบท ให้อดทน และรอการตอบกลับอย่างใจเย็น บางครั้งในการสื่อสารอาจมีบทสนทนาของการตำหนิ หรือให้คำแนะนำ คุณควรเลือกใช้คำพูดในเชิงบวก เพื่อหลีกเลี่ยงการทำให้พวกเขาเสียใจ

  1. การปฏิบัติกับผู้ป่วย เมื่อต้องดำเนินกิจวัตรประจำวันให้ราบรื่น

หากคุณกำลังดูแลผู้ป่วยที่เริ่มมีอาการในระยะกลางๆ ที่ยังพอจะทำอะไรเองได้บ้าง เราขอแนะนำให้คุณส่งเสริมการทำกิจกรรมต่างๆ ของพวกเขาต่อไปด้วยการจัดเตรียมอุปกรณ์ ตามลำดับก่อนหลังในการทำกิจกรรมต่างๆ เช่นการรับประทานอาหาร การทำความสะอาดร่างกาย โดยคุณก็คอยเฝ้ามอง และให้ความช่วยเหลือด้วยความใจเย็น อย่าเร่งร้อนแม้คุณจะรีบสักแค่ไหน

ส่วนในกรณีที่ผู้ป่วยไม่สามารถดูแลตัวเองได้คุณก็จำเป็นจะต้องช่วยเหลือพวกเขาในการทำกิจวัตรประจำวัน โดยสังเกตจากอาการของพวกเขาที่จะแสดงออกมาเมื่อต้องทำสิ่งต่างๆ เช่นการรับประทานอาหาร การทำความสะอาดร่างกาย การขับถ่าย หรือจะให้ง่ายคุณสามารถกำหนดช่วงเวลาในการทำกิจกรรมต่างๆ ไว้ล่วงหน้าได้

  1. การรับมือกับอารมณ์ที่หลากหลาย ของผู้ป่วยอัลไซเมอร์

ผู้ป่วยมักมีอารมณ์หลากหลายโดยเฉพาะอารมณ์ฉุนเฉียว โมโหง่าย จึงทำให้การดูแลก็เกิดความยุ่งยากอยู่ไม่น้อย วิธีการรับมือกับอารมณ์เหล่านั้น ก็สามารถทำได้ง่ายๆ คือการใจเย็น และเริ่มต้นพูดคุยกับผู้ป่วยด้วยน้ำเสียงนุ่มนวล พร้อมเบี่ยงเบนความสนใจเดิมที่ทำให้พวกเขามีอาการที่รับมือยาก อย่างการเปิดเพลงที่เขาชอบ พาเดินเล่น นั่งรถเล่น

หากการเบี่ยงเบนยังไม่ได้ผล ลองแสดงอาการเห็นด้วยกับสิ่งเหล่านั้นที่ทำให้เขาไม่พอใจ และชักนำพวกเขาไปทำกิจกรรมอย่างอื่นอีกครั้ง อย่าแสดงความหงุดหงิด หรือรำคาญใจ และเรียนรู้ให้ได้ว่าอะไรคือสิ่งกระตุ้นที่ทำให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์เหล่านี้ พร้อมหลีกเลี่ยงไม่ให้มันเกิดขึ้นในอนาคต

เพราะผู้ป่วยอัลไซเมอร์คือคนสำคัญ ดังนั้นในการดูแลจำเป็นจะต้องได้รับความใส่ใจ และความเข้าใจอย่างมาก หากคุณเป็นผู้ดูแลคนหนึ่งที่ได้เข้ามาอ่านบทความนี้ก็อย่าลืมนำวิธีการต่างๆ ที่ได้อ่านไปไปรับใช้ให้เข้ากับพฤติกรรมของผู้ป่วย หรือคนที่คุณรักที่กำลังมีอาการหลงลืมอยู่นะคะ

Call Now Button